ประกันภัยด้านไซเบอร์ คุ้มครองได้หลากหลายมาก เช่น โรงแรมแห่งหนึ่งเจอแฮกเกอร์ เจาะระบบแล้วขโมยข้อมูลบัตรเครดิตของลูกค้าที่เข้าพัก ซึ่งจะไปสร้างความเสียหายได้ ทางโรงแรมต้องมีค่าใช้จ่ายตรวจสอบระบบเพื่อหาช่องโหว่ บางที่อาจต้องจ้างที่ปรึกษาเรื่องการประชาสัมพันธ์ เพื่อรักษาชื่อเสียงของโรงแรม และในกรณีที่โดนฟ้องก็จะมีค่าใช้จ่ายในชั้นศาล แต่หากทำประกันภัยไซเบอร์ก็สามารถเคลมประกันในทุกความเสียหายที่เกิดขึ้นจากไซเบอร์ได้
ทางบริษัทประกันวินาศภัยที่มีประกันภัยด้านไซเบอร์ ให้คำปรึกษาและบริการในธุรกิจต่างๆ ทั้งธุรกิจเคมีภัณฑ์, ธุรกิจสถาบันการเงิน, ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม, ธุรกิจเกี่ยวกับสุขอนามัย, ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจเพื่อความบันเทิง, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, บริษัทกฎหมาย, ธุรกิจผู้ผลิตสินค้า, ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยี, ธุรกิจการให้บริการทางวิชาชีพ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยมีนโยบายส่งเสริมให้บริษัทประกันภัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่จะช่วยรองรับความเสี่ยงจากการจู่โจมหรือคุกคามทางไซเบอร์ นั่นคือการประกันภัยไซเบอร์ (Cyber Insurance) ที่ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อความเสียหายทางคอมพิวเตอร์ที่เกิดขึ้นกับธุรกิจในเชิงพาณิชย์ ได้ทุกประเภทประกันภัย เช่น ผู้ผลิตสินค้า ผู้ให้บริการประเภทต่างๆโดยเฉพาะสถาบันการเงินซึ่งมีความเสี่ยงภัยในระดับสูง โดยจะคุ้มครองทั้งในส่วน ความรับผิดต่อผู้เอาประกันภัย (First Party) หรือความรับผิดต่อบุคคลภายนอก (Third Party) ซึ่งเกิดขึ้นกับข้อมูลของลูกค้าสูญหาย หรือถูกโจรกรรมไป
กรมธรรม์ประกันภัยด้านไซเบอร์ จะคุ้มครองครอบคลุมความเสียหายทั้งหมดหรือไม่ต้องพิจารณาว่าไวรัสทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบคอมพิวเตอร์ การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ความรับผิดทางสื่อ ข้อผิดพลาดหรือการละเลยในด้านเทคโนโลยี การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล และการสื่อสารหรือถ่ายโอนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์มากน้อยเพียงใด
ในปัจจุบันพบว่า มีบริษัทประกันวินาศภัยไทย 10 แห่ง ที่เข้ามาขออนุมัติกรมธรรม์ประกันภัยไซเบอร์ โดยเพิ่มเติมจาก 5 บริษัทที่ได้รับอนุมัติกรมธรรม์ประกันภัยไซเบอร์ไปแล้ว คือ บมจ.ไทยประกันภัย, บมจ.เอไอจี ประกันภัย (ประเทศไทย), บริษัท นิวแฮมพ์เชอร์อินชัวรันส์ สาขาประเทศไทย, บมจ.ทิพยประกันภัย และ บมจ.เอฟพีจี ประกันภัย (ประเทศไทย)